logo
  • 027056700-2

  • 162 หมู่ 17 นิคมอุตสาหกรรมบางพลี (ซอย 3)

  • ถ.เทพรัตน ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ 10570

  • 08:00-17:00

  • จันทร์-เสาร์

Apr 08, 2020

ไวรัสโคโรนา : ที่มา อาการ การรักษา และการป้องกันโรคโควิด-19

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็น "การระบาดใหญ่" หรือ pandemic หลังจากเชื้อลุกลามไปอย่างรวดเร็วในทุกภูมิภาคของโลก ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ของสหรัฐฯ ระบุว่า ปัจจุบันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดไปแล้วใน 180 ประเทศและดินแดนทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อกว่า 874,081 คน ทั้งได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 43,291 คน อนามัยโลกประกาศให้โควิด-19 เป็น "การระบาดใหญ่" ทั่วโลก มารู้จักไวรัสโคโรนาที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบระบาดในจีน ผู้สื่อข่าวต่างประเทศถาม-นพ.ธนรักษ์ตอบ เรื่องสถานการณ์ไวรัสโคโรนาในไทย

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่คืออะไร

โลกได้รับรู้เรื่องโรคติดต่อปริศนา หลังจากทางการจีนยืนยันเมื่อ 31 ธ.ค. 2019 ว่าเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งมีประชากรกว่า 11 ล้านคน

โดยหลังจากเก็บตัวอย่างไวรัสจากคนไข้นำไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ในเวลาต่อมา จีนและองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ไวรัสชนิดนี้คือ "เชื้อไวรัสโคโรนา"

ก่อนหน้านี้ พบไวรัสโคโรนามาแล้ว 6 สายพันธุ์ ที่เคยเกิดการระบาดในมนุษย์ สำหรับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังระบาดเป็นสายพันธุ์ที่ 7

คนไทยรู้จักไวรัสในตระกูลนี้มาแล้วจากโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง หรือ โรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome - SARS) ซึ่งมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสโคโรนาเช่นกัน โดยพบการระบาดครั้งแรกปลายปี 2002 เริ่มจากพื้นที่มณฑลกวางตุ้งของจีน ก่อนที่จะแพร่กระจายไปในหลายประเทศ จนมีผู้ติดเชื้อกว่า 8,000 คน และคร่าชีวิตผู้คนไปเกือบ 800 คนทั่วโลก

องค์การอนามัยโลก ประกาศชื่อที่เป็นทางการสำหรับใช้เรียกโรคทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ว่า "โควิด-ไนน์ทีน" (Covid-19)

ขณะที่คณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยอนุกรมวิธานวิทยาของไวรัส (International Committee on Taxonomy of Viruses ) ได้กำหนดให้ใช้ชื่อไวรัสที่ทำให้เกิดโรค Covid-19 ว่า SARS-CoV-2 หรือไวรัสโคโรนาโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงชนิดที่สอง (Severe acute respiratory syndrome coronavirus 2 ) เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมอย่างใกล้ชิดกับเชื้อไวรัสโรคซาร์ส

อาการ

องค์การอนามัยโลก ระบุว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ จะมีอาการเริ่มแรกคือ มีไข้ ตามมาด้วยอาการไอแห้ง ๆ หลังจากนั้นราว 1 สัปดาห์จะมีปัญหาหายใจติดขัด ผู้ป่วยอาการหนักจะมีอาการปอดบวมอักเสบร่วมด้วย หากอาการรุนแรงมากอาจทำให้อวัยวะภายในล้มเหลว

ขณะที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่า หากผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงการระบาดของโรคมีอาการไข้ ร่วมกับอาการทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ควรรีบพบแพทย์ทันที
 

ความรุนแรงของโรค

ปัจจุบันนักวิจัยประเมินว่า ในจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 1,000 คน มีผู้เสียชีวิต ราว 5-40 คน หากจะระบุตัวเลขคาดการณ์ที่เฉพาะเจาะจงลงไปอีกก็คือ 9 คน ในผู้ติดเชื้อ 1,000 คน หรือเกือบ 1%

ขณะที่นายแมตต์ ฮานค็อก รัฐมนตรีสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร ระบุเมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า "การประเมินที่ดีที่สุด" ของรัฐบาลคือ อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ "2% หรือ น่าจะต่ำกว่านั้น"

แต่ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งเรื่องของอายุ เพศ สุขภาพโดยทั่วไป และระบบสาธารณสุขที่ผู้ป่วยเข้ารับบริการ

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลคนไข้ 56,000 คน ที่จัดทำขึ้นโดยองค์การอนามัยโลก บ่งชี้ว่า ผู้ได้รับเชื้อ 4 ใน 5 คน จะมีอาการป่วยไม่รุนแรง โดย :

  • 80% มีอาการไม่รุนแรง
  • 14% มีอาการรุนแรง
  • 6% มีอาการวิกฤต

ส่วนอัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำที่ 1-2%

 

เรามีความเสี่ยงแค่ไหน

ถ้าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ กลุ่มคนที่มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่า ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และอาจจะรวมถึงผู้ชายด้วย

การวิเคราะห์ขนาดใหญ่ครั้งแรกในผู้ติดเชื้อมากกว่า 44,000 ในประเทศจีน พบว่า อัตราการเสียชีวิตในผู้สูงอายุสูงกว่าคนวัยกลางคนถึง 10 เท่า

อัตราการเสียชีวิตในคนที่อายุต่ำกว่า 30 ปี ต่ำที่สุด โดยมีผู้เสียชีวิต 8 คนในจำนวนผู้ติดเชื้อ 4,500 คน

ผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือปัญหาในการหายใจ มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนปกติอย่างน้อย 5 เท่า

และผู้ชายมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าผู้หญิงเล็กน้อย

ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลต่อกันและกัน และเราก็ยังไม่เห็นภาพที่สมบูรณ์ของความเสี่ยงในคนแต่ละประเภทในแต่ละพื้นที่

ผลการวิเคราะห์จากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของจีน (CCDC) ชี้ว่า แม้อัตราการติดเชื้อโรคโควิด-19 ระหว่างชายและหญิงจะไม่ต่างกันมากนัก แต่อัตราการเสียชีวิตนั้นทิ้งห่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีจำนวนคนไข้ชายที่เสียชีวิต 2.8% ในขณะที่คนไข้หญิงเสียชีวิต 1.7%

สาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนี้ สืบเนื่องมาจากการที่ผู้ชายเป็น "เพศอ่อนแอกว่า" ในเรื่องของภูมิต้านทานโรค แต่อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบชัดว่าเหตุใดผู้หญิงจึงแข็งแกร่งกว่าผู้ชายในแง่นี้ ทั้งยังสามารถพัฒนาภูมิคุ้มกันหลังได้รับวัคซีนให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพดีกว่า และอยู่คงทนนานปีกว่าอีกด้วย

 

เราจะป้องกันตัวได้อย่างไร

ปัจจุบันยังไม่ทราบชัดเจนว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่กระจายจากคนสู่คนได้อย่างไร แต่เชื้อไวรัสชนิดคล้ายกันแพร่ผ่านทางละอองของเหลวที่ออกมาจากการไอและจาม

คำแนะนำที่ดีที่สุดจาก องค์การอนามัยโลกคือ เราสามารถป้องกันตัวเองจากไวรัสที่ติดต่อทางระบบทางเดินหายใจทุกชนิดได้ด้วยการล้างมือ เลี่ยงการเข้าใกล้คนที่ไอหรือจาม และพยายามอย่าสัมผัสใบหน้า ดวงตา จมูก และปาก

 

สถานการณ์ในไทย

กระทรวงสาธารณสุขประกาศ "โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019" หรือ "โรคโควิด-19" เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.

กระทรวงสาธารณสุขรายงาน จำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 รายใหม่ในประเทศไทยเพิ่มอีก 120 ราย เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ทำให้ยอดสะสมของผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทยอยู่ที่ 1,771 ราย โดยมีผู้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,343 ราย ส่วนผู้ป่วยอีก 416 รายรักษาหายแล้ว และมีผู้เสียชีวิต 12 ราย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก สธ. กล่าวว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่พบในกรุงเทพฯ เป็นคนวัยหนุ่มสาวที่มีอาการเล็กน้อย จึงออกไปใช้ชีวิตตามปกติ

นอกจากนี้ นพ.ทวีศิลป์ยังได้ขอความร่วมมือประชาชนทุกคนว่าอย่าเดินทางกลับภูมิลำเนา แม้ว่าจะมีการหยุดงาน เนื่องจากอาจแพร่เชื้อสู่คนในต่างจังหวัดได้ ขณะที่คนในต่างจังหวัดก็ไม่ควรเดินทางข้ามจังหวัด เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

หน้ากากป้องกัน เจลทำความสะอาด และเครื่องฟอกอากาศหลากชนิด กลายเป็นของหายาก ขาดแคลน หรือราคาพุ่งสูงขึ้นหลายเท่า โรงพยาบาลหลายแห่งเรียกร้องรัฐบาลให้ช่วยจัดหาหน้ากากอนามัยในเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ส่วนหน่วยงานรัฐหลายแห่งออกมาสอนให้คนทั่วไปเย็บหน้ากากผ้าไว้ใช้เอง

 

Share this post :